You are currently viewing สุขใจวัยเกษียณ (Enjoy Life in 60s)

สุขใจวัยเกษียณ (Enjoy Life in 60s)

เคยสงสัยไหมครับว่า? “อายุเท่านี้แล้ว ใช้ชีวิตอย่างไรดีให้มีความสุข ไม่เป็นโรค”

    ผู้สูงอายุหลายๆ ท่าน อาจจะเข้าใจว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดาใช่ไหมครับ แต่จะดีกว่าไหม ถ้าเราสามารถป้องกันการเกิดการเจ็บป่วย ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจได้

     การเจ็บป่วยของผู้สูงอายุ สามารถเกิดได้ทุกๆ ระบบของร่างกายเลยนะครับ ยกตัวอย่างเช่น

  1. ระบบหัวใจและหลอดเลือด* เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจโต โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ โรคความดันโลหิตสูง ฯลฯ
  2. ระบบประสาทและสมอง** เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน โรคปลายประสาทเสื่อม ฯลฯ
  3. ระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะเร็ด/รั่ว โรคไต ฯลฯ
  4. ระบบต่อมไร้ท่อ เช่น เบาหวาน ต่อมลูกหมากโต ฯลฯ
  5. ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ** เช่น ข้อเข่าเสื่อม กล้ามเนื้อมืออ่อนแรง กระดูกคอเสื่อม หมอนรองกระดูกเคลื่อนทับรากประสาท ฯลฯ

    ซึ่งก็เป็นปรกติครับผม ที่พอถึงช่วงอายุหนึ่งแล้ว กราฟความเสื่อมของร่างกายเราจะพุ่งตรงดิ่งสู่พื้นเลยครับ 😀 ดังนั้น ผมอยากจะรณรงค์อย่างนี้ครับ อยากให้ทั้งผู้สูงอายุหลายๆ ท่านที่ยังนอนพักอยู่ที่บ้าน และลูกหลานทุกท่าน มาหากิจกรรมที่ทำร่วมกัน หรืออย่างน้อยที่สุด คือการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุ ได้ทำอะไรในสิ่งที่ต้องการจะทำมากกว่า ห้าม หรือช่วยเหลือเสียจนผู้ใหญ่ที่บ้านของท่านไม่ต้องทำอะไรเลยครับ 

ทำไมถึงผมถึงอยากส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้ทำกิจกรรมเอง ใช่ไหมครับ?

    นั่นเป็นเพราะว่า การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรม จะช่วยชะลอภาวะเสื่อมสภาพของร่างกายได้ครับ เช่น การออกกำลังกายเบาๆ (การตื่นตอนเช้าไปสวนสาธารณะเพื่อไปเดิน) การให้ผู้สูงอายุได้มีส่วนร่วมในการเข้าชมรมต่างๆ (เพื่อส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ป้องกันภาวะซึมเศร้าได้ดีทีเดียวเชียวครับผม)

การชะลอภาวะเสื่อมของร่างกาย สำคัญไฉน?

    “ความจริงประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตั้งแต่ปี 2548 แล้ว ตอนนั้นเรามีผู้สูงอายุ 10.4% และปีหน้า 2564 จะเข้าสู่ “สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์” ตามหลักเกณฑ์ที่ว่า คือมี “คนแก่” อายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ และคาดการณ์ว่าในปี 2574 เราจะเข้าสู่ “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” – ที่มา เดลินิวส์ (https://www.dmh.go.th/)

     จากบทความข้างต้น จะเห็นได้ว่าประเทศไทยเรามีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี ดังนั้น ถ้าหากเราส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรงขึ้น ย่อมลดโอกาสที่จะเกิดผู้พิการหรือผู้ทุพพลภาพ ทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูในด้านอื่นๆ ของผู้สูงอายุอีกด้วย

     

     ทำอย่างไรให้ชีวิตมีความสุข??​

     ส่วนใหญ่แล้วผู้สูงอายุที่ปราศจากกิจกรรมในวัยเกษียณ เสี่ยงต่อการเป็นภาวะซึมเศร้าสูงมากครับ เนื่องจากผู้สูงอายุมักจะรู้สึกท้อแท้ ทำอะไรได้ไม่เหมือนเดิม เป็นภาระของบุตรหลานหรือเปล่า? เขินอายกับการขอความช่วยเหลือเรื่องเล็กน้อย และในบางครั้งก็รู้สึกไม่พอใจตัวเอง/ไม่พอใจคนรอบข้าง ที่ไม่ยอมให้ทำอะไรอย่างที่เคยทำ ทีนี้พอครอบครัวขาดความเข้าใจซึ่งกันและกัน จะนำมาสู่ประโยคนี้ครับ “ไม่ลองแก่บ้างก็ให้รู้กันไป!!!” 

     และนั่นแหละครับ ประเด็นนี้สำคัญมาก เพราะทุกคนที่เป็นบุตรหลาน ไม่เคยแก่ไงครับ และเมื่อเราแก่ ผู้ใหญ่ของเราก็สุขสบายไปเสียแล้ว ดังนั้นอยากให้บุตรหลานหลายๆ ท่าน ทำความเข้าใจกับผู้ใหญ่ที่บ้านเราให้มากขึ้นครับ ผู้สูงอายุ ที่ยังปราศจากโรคภัยร้ายแรง ที่ยังสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปรกติ ผมแนะนำให้ผู้ใหญ่ท่านได้ใช้ชีวิต เหมือนที่ท่านเคยได้ใช้ ได้เดินออกกำลังกาย ได้ออกไปหาสังคมอย่างที่ท่านเคยอยากออกเถอะครับ 🙂

     ส่วนผู้สูงอายุที่ไม่ชอบทำกิจกรรม และส่วนใหญ่อยากจะนอน ผมแนะนำอย่างนี้ครับ ลองหาสาเหตุของความเบื่อหน่ายนี้กันเถอะครับ เป็นเพราะกลางคืนนอนไม่หลับหรือเปล่า? หรือเป็นเพราะไม่อิ่มท้อง? หรือเป็นเพราะอยากให้บุตรหลานสนใจ? จะเหตุผลใดก็แล้วแต่ ผมอยากให้ท่านผู้ใหญ่ที่เคารพ ลองมองย้อนกลับไปเมื่อตอนที่ท่านยังอยู่ในฐานะบุตรหลานครับ ว่าจะทำอย่างไรดีต่อจากนี้? ผมก็คงต้องพูดกับท่านผู้ใหญ่ทุกท่านอย่างนี้ครับว่า “ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเราเช่นกันครับ” ลุกออกจากเตียงมาหากิจกรรมทำกันเถอะครับ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียว หรือทำเป็นกลุ่ม ล้วนแล้วแต่เกิดประโยชน์กับสุขภาพทั้งนั้นครับ เช่น การออกกำลังกายยามเช้าที่สวนสาธารณะ การปลูกต้นไม้ (แน่นอนครับว่าสถานที่ปลูกต้นไม้ต้องเหมาะสมนะครับ ถ้าเกิดต้องลุกนั่งบ่อยๆ น่าจะไม่ดีต่อความดันโลหิตแน่นอน) เป็นต้น

ข้อมูลจาก : องค์การอนามัยโลก (WHO) (https://www.who.int/ageing/publications/guidelines-icope/en/)
              : กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (https://www.dmh.go.th/)

ติดต่อสอบถาม
โทร : 080-6462559
FB : ตั้งใจรักษ์ คลินิกกายภาพบำบัด

Leave a Reply