You are currently viewing เวียนศรีษะ บ้านหมุนอย่างนี้ หินปูนในหูหลุดหรือเปล่า? (BPPV)

เวียนศรีษะ บ้านหมุนอย่างนี้ หินปูนในหูหลุดหรือเปล่า? (BPPV)

โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด (Benign Paroxysmal Positional Vertigo: BPPV)

     เคยไหมครับ? ได้ยินคุณพ่อคุณแม่ หรือญาติผู้ใหญ่บ่นกับเราว่า ทำไมช่วงนี้ก้มๆ เงยๆ แล้วเวียนหัวจังเลย ความดันขึ้นอีกแล้วหรือเปล่า? อันที่จริงแล้ว อาการเวียนหัว เป็นเพียงแค่หนึ่งในอาการแสดงของหลายๆ โรค ครับ นอกจากจะเป็นอาการที่แสดงให้เห็นว่า อาจจะเกี่ยวข้องกับความดันโลหิตแล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องนึกถึงก็คือ โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด หรือ BPPV นั่นเองครับ

    โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด อาจยังไม่เป็นที่รู้จักมากในคนไทย เนื่องด้วยอาการค่อนข้างคลุมเครือ และไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ส่วนใหญ่จะสับสนกับโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s disease) แต่จริงๆ แล้ว ไม่ใช่โรคเดียวกัน แต่เป็นตำแหน่ง หูชั้นใน (Inner ear) เหมือนกันครับ

    ทีนี้มาย้อนวัยสมัยประถมกันสักนิดนึงครับ ที่เราเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ หรือ ชีววิทยา คุณครู/อาจารย์มักจะสอนเราว่า หูเนี่ยนะ ประกอบไปด้วย 3 ชั้น ได้แก่ 1. หูชั้นนอก (บริเวณใบหู) 2. หูชั้นกลาง (บริเวณกระดูกค้อน ทั่ง และโกลน) และชั้นสุดท้าย 3. หูชั้นใน (ประกอบไปด้วยกระดูกรูปก้นหอยและท่อ 3 อัน) โดยหูแต่ละชั้นนั้น จะทำหน้าที่แตกต่างกันออกไป

    โดยเจ้าหินปูนในหูชั้นใน ปรกติแล้วจะอยู่ในกระเปาะและจะไม่เคลื่อนหลุดออกมา พอหินปูนหลุดออกมาจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเวียนศรีษะ บ้านหมุน หรือคลื่นไส้อาเจียนได้

   สาเหตุ และปัจจัยเสี่ยง (Causes & Risk Factors)

1. ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปี : เกิดจากเคยได้รับอุบัติเหตุที่ศรีษะ, นอนนาน, ติดเชื้อไว้รัสที่หูชั้นใน 
2. ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี (พบได้บ่อย) : เกิดจากภาวะเสื่อมของตะกอนหินปูน, การเคลื่อนไหวศรีษะซ้ำๆ เร็วๆ (เช่น การทำความสะอาดบ้าน หรือ การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์), โรคประจำตัว (เบาหวาน, ความดัน, ไขมัน) หรืออาจจะไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดได้
3. เพศ : เพศหญิงสามารถพบได้มากกว่า เพศชาย อัตราส่วน 1.5-2 : 1

    อาการ (Signs & Symptoms)

1. เวียนศรีษะบ้านหมุน (Vertigo) ขณะเปลี่ยนท่าทางบนเตียง โดยเฉพาะพลิกตะแคงตัว/ลุกออกจากเตียง โดยระยะเวลาที่มีอาการจะไม่นานเกิน 30-60 วินาที และอาจจะกระตุ้นอาการคลื่นไส้/อาเจียนได้
2. รบกวนการมองเห็น (Visual Disturbance)  รู้สึกมองเห็นภาพไม่ชัด เนื่องจากจะมีอาการตากระตุกร่วมด้วย ระยะเวลาที่ตาจะกระตุกไม่นานเกิน 30-60 วินาทีเช่นกัน
3. รู้สึกสูญเสียการทรงตัว (Loss of Balance) เนื่องจากหูชั้นในทำหน้าที่ในการรับรู้การเคลื่อนไหวของศรีษะ เมื่อตะกอนหินปูนหลุดออกมา จึงรู้สึกเหมือนว่าการทรงท่าเปลี่ยนแปลงไป อาการสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ
        ระดับน้อย   เปลี่ยนท่าทาง  แล้วทำให้เวียนศรีษะ 
        ระดับกลาง  เปลี่ยท่าทาง ทำให้เกิดอาการเวียนศรีษะ ร่วมกับรู้สึกไม่มั่นคง
        ระดับมาก   เปลี่ยนท่าทาง หรือแค่ขยับศรีษะ ก็ทำให้มีอาการเวียนศรีษะบ้านหมุน ทรงตัวลำบาก

ข้อห้าม/ข้อควรระวัง (Contraindications/Precautions)

  1. ไม่ควรขับรถยนต์เอง เนื่องจากการขับรถยนต์จะต้องหันศรีษะไปมา ซึ่งจะกระตุ้นอาการบ้านหมุนได้ เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์
  2. ไม่ควรเดินในที่มืด เสี่ยงต่อการล้มได้ง่าย ร่างกายเราจะรับรู้การทรงตัวในที่มืดผ่านทางหูชั้นใน แต่เนื่องด้วยตะกอนหินปูนหลุดออกมา ทำให้เราไม่สามารถรับรู้การทรงท่าได้เป็นปกติ ผู้ป่วยอาจจะล้มได้ง่าย
  3. ไม่ควรทำกิจกรรมที่ผาดโผน เปลี่ยนท่าทางไวไว เช่น ว่ายน้ำ ปีนเขา เดินป่า วิ่ง หรือเล่นกีฬา เพราะจะเป็นการทำให้หินปูนอาจจะหลุดซ้ำ
  4. พกเกลือแร่หรือลูกอมติดตัว ในผู้ป่วยบางรายมีอาการอาเจียนมาก อาจจะทำให้ขาดแร่ธาตุโพแทสเซียม (Potassium) จะส่งผลให้เกิดอาการหน้ามืด (Syncompe) หรืออ่อนเพลียได้ง่าย   

การรักษา (Treatment)

  1. การรักษาทางยา (Medications) : แพทย์จะให้ยาลดอาการวิงเวียนศรีษะเพื่อลดอาการและทำให้สามารถทำกายภาพบำบัดได้ 
  2. การรักษาทางกายภาพบำบัด (Physical Therapy Treatment) 
    – นักกายภาพบำบัดจะทำการรักษาด้วยการขยับศรีษะให้ตะกอนหินปูนกลับเข้าไปในกระเปาะ เมื่อตะกอนหินปูนกลับเข้าไปในกระเปาะเรียบร้อยแล้ว อาการจะทุเลาลงทันทีหรือภายใน 2 สัปดาห์
    – ฟื้นฟูสมรรถภาพการทำงานของหูชั้นใน ด้วยการออกกำลังกายหูชั้นใน (Vestibular Rehabilitation) และการออกกำลังกายเกี่ยวกับการทรงตัว (Balancing Exercise) 

Q & A (ถาม-ตอบ)

Q : โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด กับ โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน แตกต่างกันอย่างไร?
A: โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน จะพบความผิดปกติของการได้ยิน เช่น หูอื้อ ได้ยินไม่ชัด รู้สึกแน่นในหูเป็น ๆ หาย ๆ บางครั้งการได้ยินดีขึ้นหรือแย่ลง หรืออาจมีเสียงดังในหู แต่ในขณะเดียวกัน โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุดจะไม่พบความผิดปกติดังกล่าว

อ้างอิงรูปภาพ
– Northwestern University
– Otolaryngology Specialist of North Texas
อ้างอิงข้อมูล
– https://www.physio-pedia.com/Benign_Positional_Paroxysmal_Vertigo_(BPPV)
–  รศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน. (2554) โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด (Benign Paroxysmal Positional Vertigo: BPPV). จากเว็บไซต์: https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/admin/article_files/901_1.pdf
– Bhattacharyya et al. (2008). Clinical practice guideline: Benign paroxysmal positional vertigo American Academy of Otolaryngology–Head and Neck Surgery Foundation, 2008(139), 1-35.

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
โทร : 
080-6462559
FB : ตั้งใจรักษ์ คลินิกกายภาพบำบัด

Leave a Reply