วันหยุดยาวกำลังจะผ่านพ้นไป ไม่แน่ใจว่าทุกท่านเตรียมตัวกลับไปทำงานกันยาวๆ หรือยังคะ วันนี้แอดเลยมีบทความสั้นๆ เกี่ยวกับสาเหตุของอาการปวดหลังมาฝากผู้ติดตามเพจกันค่า
ปัจจุบันจากการเก็บรวบรวมสถิติภายใน ตั้งใจรักษ์ คลินิกกายภาพบำบัด ค้นพบว่า คนไข้มักเข้าใจว่าตนเองนั้นมีอาการปวดหลังเพราะ #หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ทั้งนั้น เกิดจากเมื่อเริ่มมีอาการปวดหลัง สิ่งแรกที่คนไข้ทำคือการเริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับอาการปวดหลัง และสิ่งที่ได้จากการค้นหามักเป็นผลลัพธ์ที่หนัก/แย่ที่สุด เช่น หมอนรองกระดูกปลิ้นทับเส้นประสาทนั่นเอง
.
อันที่จริงแล้ว การจะวินิจฉัยอาการเกี่ยวกับระบบกระดูกและกล้ามเนื้อนั้น ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่าง ดังนั้น สำหรับใครที่เคยเปิดเจอการค้นหาด้วยกลุ่มอาการนี้ อาจจะเบาใจได้ระดับหนึ่งว่า ยังไม่สามารถฟันธงได้ 100% ที่จะเป็นตามที่อากู๋เกิ้ลได้บอกเอาไว้นะคะ
จากผลงานวิจัยของ the American Family Physician ปี 2009 ได้พบว่ากลุ่มอาการปวดหลังล่างส่วนใหญ่มีสาเหตุจาก #การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหรือเอ็น (Back Sprain/Strain), การบาดเจ็บของข้อต่อ/กระดูก (Mechanical caused), การบาดเจ็บอวัยวะอื่นมาแสดงอาการที่หลังล่าง (Referred pain) และ การบาดเจ็บอันเกิดจากกลุ่มโรคอื่นๆ (Non-mechanical caused) ตามลำดับ (ภาพที่ 2: Pie chart)
*หากใครต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถตามอ่านได้ที่อ้างอิงที่อยู่ในภาพนะคะ
.
โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโอกาสบาดเจ็บได้มากขึ้น มีดังต่อไปนี้ค่า
1. โครงสร้างของกระดูกสันหลัง หรือ สรีระร่างกาย (Posture): ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มหลังแอ่น หลังค่อม หรือ หลังตรงจนเกินไป ล้วนแล้วแต่มีโอกาสก่อให้เกิดอาการปวดหลังได้
2. โรคประจำตัว (Underlying): โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, โรคไขมันในหลอดเลือดสูง ฯลฯ กลุ่มโรคเหล่านี้ สามารถเพิ่มเป็นปัจจัยส่งเสริมได้หมด
3. พฤติกรรม (Behaviour): พฤติกรรมที่เสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บ ไม่ว่าจะยกของในท่าที่ไม่เหมาะสมกับบุคคลนั้นๆ หรือ การทำพฤติกรรมใดพฤติกรรมหนึ่งนานจนเกินไป ก็ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยส่งเสริมการบาดเจ็บได้ทั้งหมด
ในทางกลับกัน การที่สรีระร่างกายไม่สวยตรงตามอุดมคติ ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดอาการปวดเสมอไป สิ่งที่เป็นตัวแปรหลักของเรื่องนี้คือ กล้ามเนื้อของเรามีความสามารถเหมาะสมกับการใช้ชีวิตประจำวันของเราหรือไม่?
.
ยกตัวอย่างเช่น เราเป็นบุคคลที่ชื่นชอบการเล่นกีฬา หากเราไม่เสริมสร้างสมรรถภาพองค์รวมของเราให้เพียงพอต่อการเล่นกีฬา เราก็จะเกิดอาการบาดเจ็บจากเล่นกีฬาได้ มีอีกสิ่งหนึ่งที่มักถูกเข้าใจผิดบ่อยๆ นั่นก็คือ…
“การเล่นกีฬา = การออกกำลังกาย”
อันที่จริงการเล่นกีฬาอาจเป็นส่วนหนึ่งของการออกกำลังกาย แต่การเล่นกีฬาเพียงอย่างเดียว โดยที่สมรรถภาพร่างกายไม่เพียงพอต่อการเล่นกีฬาชนิดนั้นๆ อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ และอาจเป็นสาเหตุของอาการบาดเจ็บที่จะยังคงอยู่ไปตลอด
(แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับผลกระทบจากการเล่นกีฬานะคะ)
ร่ายยาวมาจนถึงตอนนี้ สำหรับใครที่อ่านมาถึงช่วงท้ายของโพสต์ แอดอยากจะบอกว่า “แค่ขยับ = การออกกำลังกาย” อาจช่วยทำให้เรารู้สึกสบายใจมากขึ้น เพราะ เราไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายในยิม/ฟิตเนสเสมอไป เพียงเราไม่อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ ก็สามารถช่วยทำให้ร่างกายของเราลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บได้แล้ว แต่ในทางกลับกัน หากคนที่รักในสุขภาพและอยากเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ขอให้คิดไว้เสมอว่า การเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเพียงมัดใดมัดหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าร่างกายจะสุขภาพดีเสมอไป
.
อย่างไรก็ดี…เราควรเสริมสร้างร่างกายแบบองค์รวม และต้องมีวินัยในการดูแลตนเองพอสมควร ลองสังเกตุในภาพสุดท้าย กล้ามเนื้อของเรามีหลายมัดมากๆ ดังนั้นคงต้องลองกันสักตั้งหนึ่ง อย่างน้อยที่สุดสิ่งที่เราทำในวันนี้ก็จะอยู่กับเราไปตลอดนะคะ
.